ประวัติภาควิชา
ประวัติภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า "หน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน" เปิดให้บริการผู้ป่วยพร้อมกับเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมงแก่ผู้ป่วยที่มาขอรับบริการ ณ ห้องฉุกเฉินด้วยอาการรุนแรงและรีบด่วนซึ่งต้องได้รับการตรวจรักษาทันที นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของแพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ นักศึกษาพยาบาล ตลอดจนนักศึกษาจากต่างประเทศที่เข้ามาเรียนรู้ด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลผู้ป่วย รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลที่แพทย์และอาจารย์แพทย์จากภาควิชาต่างๆ ใช้ทำการวิจัยทางด้านการรักษาผู้ป่วย ตลอดจนผลิตนวัตกรรมทางด้านการรักษาผู้ป่วยอีกด้วย
หน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ในระยะเวลาที่ผ่านมาขึ้นตรงต่อสำนักงานคณบดี โดยมีคณบดีเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารและการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย สำนักงานธุรการหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ห้องฉุกเฉิน หอสังเกตอาการ 1 สำหรับสังเกตอาการผู้ป่วยหญิงและเด็กไม่เกิน 72 ชั่วโมง จำนวน 21 เตียง) และหอสังเกตอาการ 2 (สำหรับหอสังเกตอาการผู้ป่วยชายไม่เกิน 72 ชั่วโมง จำนวน 21 เตียง)
ต่อมาในปี พ.ศ.2547 ที่ประชุมกรรมการประจำคณะฯ เห็นชอบให้เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Physician : EP) เพื่อสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รวมทั้งให้พัฒนาจากหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉิน เป็นภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เดิมภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคาร 2 (ปัจจุบันคือ อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมฯ) และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2553 ได้ย้ายมาอยู่ที่ชั้น 3 อาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอาคารที่ก่อสร้างใหม่และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553
รายนามหัวหน้าภาควิชาจากอดีตถึงปัจจุบัน
วาระปี 2547-2552 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์
วาระปี 2552-ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา
อาคารศูนย์อุบัติเหตุและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี
แผนผังภายในห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี